สนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติ
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อเต็ม ราชกรีฑาสถานแห่งชาติ
ชื่อเดิม สนามกรีฑาสถาน
สร้างเมื่อ พ.ศ. 2480
ต่อเติม พ.ศ. 2484
เจ้าของ กรมพลศึกษา
ความจุ ปัจจุบัน 19,800 ที่นั่งพื้นสนาม หญ้าจริง
สนามศุภชลาศัย
เป็นสนามกีฬาแห่งชาติของประเทศไทย อยู่ในความดูแลของกรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยส่งคืนสถานที่บางส่วนแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษา และใช้อาคารสถานที่ในส่วนที่ยังเช่าอยู่ เพื่อเป็นที่ทำการของกรมฯ ตลอดจนสมาคมหรือองค์กร ที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา และนันทนาการต่างๆ กรีฑาสถานแห่งชาติ ตั้งอยู่ภายในที่ทำการของกรมพลศึกษา เลขที่ 154 ถนนพระรามที่ 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
ประวัติสนามศุภชลาศัย
กรีฑาสถานแห่งชาติมีต้นกำเนิดจากการแข่งขันกรีฑานักเรียน ซึ่งโดยปกติจะจัดขึ้นในสนามกีฬาของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ต่อมาในปี พ.ศ. 2477 นาวาโทหลวงศุภชลาศัย อธิบดีกรมพลศึกษาคนแรก มีดำริในการจัดหาสถานที่ตั้ง สนามกีฬากลางกรมพลศึกษา, โรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษากลาง (ปัจจุบันคือ คณะพลศึกษามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) และ สโมสรสถานลูกเสือ (ปัจจุบันคือ ที่ทำการคณะลูกเสือแห่งชาติ) จนกระทั่งได้ทำสัญญากับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเช่าที่ดินขนาด 77 ไร่ 1 งาน ที่ตำบลหอวัง บริเวณวังวินด์เซอร์เดิม เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2478 เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 29 ปี
ต่อมา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480 เวลาเช้า มีพระราชพิธีก่อพระฤกษ์ (พิธีวางศิลาฤกษ์) โดยคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ขณะเดียวกัน ก็ให้ย้ายการแข่งขันกรีฑานักเรียน ไปจัดขึ้นที่ท้องสนามหลวงเป็นการชั่วคราว โดยในปีต่อมา (พ.ศ. 2481) กรมพลศึกษาจึงย้ายที่ทำการ เข้ามาอยู่ภายในบริเวณกรีฑาสถานแห่งชาติ การใช้สนามกรีฑาสถานเป็นครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธาน ในพิธีเปิดการแข่งขันกรีฑาประชาชนชาย ประจำปี พ.ศ. 2481 ซึ่งเปลี่ยนสถานที่จัดมาจากท้องสนามหลวง
ทั้งนี้ สนามกรีฑาสถานจัดสร้างแล้วเสร็จพร้อมใช้งาน ในราวปี พ.ศ. 2484 ซึ่งประกอบไปด้วย สนามฟุตบอลพื้นหญ้าขนาดมาตรฐาน พร้อมลู่วิ่งรอบนอก, อัฒจันทร์ทิศตะวันตก จำนวน 20 ชั้น ตอนกลางมีที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ หรือผู้แทนพระองค์ เบื้องหลังประดับตราพระมหาพิชัยมงกุฏและอุณาโลม พระราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ไทย มีหลังคารูปเพิงแหงนไม่มีเสาค้ำปกคลุมตลอดแนว และอัฒจันทร์ทิศเหนือ จำนวน 20 ชั้นเท่ากัน ส่วนด้านนอกสนาม ที่ยอดเสามุมซ้ายขวาของมุขกลาง มีรูปปั้นนูนสูงขนาดใหญ่ เป็นภาพพระพลบดีทรงช้างไอยราพต สัญลักษณ์ประจำกรมพลศึกษา ส่วนริมสุดทางซ้ายขวา ขนาบด้วยหอคอยสองข้าง พร้อมประตูทั้งสองฝั่ง ทิศตะวันออกเรียกว่าประตูช้าง ทิศตะวันตกเรียกว่าประตูไก่ และมีห้องทำงานกับห้องน้ำอยู่ในช่วงเชื่อมต่อ ระหว่างมุขกลางและหอคอยทั้งสองข้าง ทั้งนี้ การก่อสร้างอัฒจันทร์ทิศตะวันออกและทิศใต้ ก็ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง จนแล้วเสร็จสมบูรณ์ตามมาในภายหลัง
ล่าสุด ในปี พ.ศ. 2551 มีการปรับปรุงบริเวณกรีฑาสถานแห่งชาติครั้งใหญ่
เนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปี
ซึ่งประกอบด้วย ส่วนหน้าปะรำที่ประทับ ในสนามศุภชลาศัย ประดับด้วยพระบรมมหาราชวังจำลอง หน้ามุขทางขึ้น ตกแต่งคล้ายกับพระราชวังวินด์เซอร์ ที่สหราชอาณาจักร ปลูกต้นไม้รอบบริเวณสนาม ติดตั้งเก้าอี้บนอัฒจันทร์ทั้งหมด
และปรับพื้นสนามหญ้าใหม่ ในส่วนสนามเทพหัสดิน อาคารกีฬานิมิบุตร และ
อาคารจันทนยิ่งยง มีการปรับปรุงตกแต่ง ทาสี ติดตั้งเก้าอี้ ทำพื้นสนามหญ้า
ตลอดจนปรับปรุงพื้นถนนภายในบริเวณกรีฑาสถานแห่งชาติทั้งหมด
สนามเหย้าทีมชาติไทย
สนามศุภชลาศัยถูกใช้เป็นสนามเหย้าของทีมฟุตบอลทีมชาติไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และเป็นที่ตั้งของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ใช้จัดการแข่งขันฟุตบอลรายการสำคัญของประเทศ สนามศุภมีประวัติศาสตร์อันยาวนานกับวงการฟุตบอลไทย จนถูกขนานนามว่า เวมบลีย์แห่งเมืองไทย มีสเน่ห์และมนต์ขลัง ทุกๆแมตที่ทีมชาติแข่งขัน และมีคนดูเต็มสนาม จะสร้างความกดดันให้กับคู่ต่อสู้เป็นอย่างมาก
ปัจจุบันสนามศุภชลาศัยยังมีการใช้งานอยู่ แต่จะใช้งานเฉพาะการแข่งขันกีฬารายการที่มีความสำคัญ เก่าแก่ หรือนัดชิงชนะเลิศ และยังใช้จัดพิธีการสำคัญๆของประเทศ อีกด้วย เช่น การเดินสวนสนามลูกเสือไทย เป็นต้น
ฟุตบอลประเพณี จุฬา ธรรมศาสตร์
บรรยากาศนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลลีกคัพ
สุเชาว์ นุชนุ่ม นักเตะบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด รับถ้วยรางวัล
ชัยนาท เอฟซี ของผมก็เคยมาเยือนแล้ว
อ้างอิง http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%91%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น